หน้าแรก


จิตวิทยาสำหรับครู


       การถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจของท่านให้เราเกิดความเข้าใจได้โดยไม่ยาก นอกจากนั้นเรายังชอบที่ท่านออกข้อสอบครอบคลุมเนื้อหาที่ท่านสอนโดยมีความไม่ยากหรือ ไม่ง่ายจนเกินไป แต่ในทางกลับกัน ถ้าเราจะลองนึกย้อนอดีตเพื่อมองหาครูสักคนหนึ่งที่เรา ไม่ชอบ เราก็อาจจะพบว่าครูท่านนั้นเป็นคนที่เราไม่ค่อยชอบอยู่ใกล้ ๆ ซึ่งอาจจะเนื่องมาจาก ความเข้มงวดกวดขัน หรือเป็นคนดุ หรืออาจเป็นเพราะเราฟังท่านอธิบายไม่ค่อยเข้าใจ เรียนกับท่านไม่ค่อยรู้เรื่อง หรืออาจจะเป็นเพราะท่านออกข้อสอบยากเกินไปจนเราทำไม่ได้ หรือไม่ก็ง่ายจนเกินไปจนเราหรือรู้สึกว่าไม่ค่อยสมศักดิ์ศรีของเรานัก ฯลฯ สิ่งที่เป็นปัจจัยแห่งความชอบหรือไม่ชอบของนักเรียนที่มีต่อตัวผู้สอนหรือครูนี้ ถือได้ว่ามีความสำคัญมากต่อการประกอบอาชีพครู ซึ่งควรอย่างยิ่งที่บุคคลผู้ได้ชื่อว่าเป็นครูควรจะทราบและตระหนักในความสำคัญของมัน เพื่อจะได้จัดการกับตัวเองให้เหมาะสม ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้มี ดังต่อไปนี้
1.องค์ประกอบที่หนึ่ง ความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาวิชาที่สอน 
                ความรู้ ความเข้าใจที่ว่านี้ หมายถึง การเข้าถึงแก่นของเนื้อหา ทฤษฎี หลักการต่าง ๆ ซึ่งในบางวิชาครูท่านเรียกว่า มโนทัศน์หรือสมัย 40 ปีที่แล้ว เรียกกันว่าความคิดรวบยอด (Concept) ของเนื้อหานั่นเอง ครูจะสอนเรื่องอะไรก็ต้องมีความเข้าใจชัดเจน แจ่มแจ้งแทงตลอด หรือที่เรียกกันว่าเกิด insight ใน เนื้อหานั้น ทั้งนี้เพราะว่าหากครูผู้สอนไม่รู้แจ้งในเนื้อหาเสียแล้ว ก็จะนำไปสู่ความยากลำบาก ในการที่จะทำให้นักเรียนเกิดความรู้ความเข้าใจในเนื้อหานั้นด้วย และที่ร้ายที่สุดในเรื่องนี้ก็คือ ครูมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในเนื้อหาแล้วจะพาให้นักเรียนเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนตามไปด้วย เช่น ครูที่ไม่ค่อยรู้แจ้งในเรื่องหลักการคำนวณเบื้องต้น คือ การบวก การลบ การคูณ การหาร ย่อมไม่อาจอธิบายให้นักเรียนเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งได้ว่าเพราะเหตุใด 5 X 0 จึงมีผลลัพธ์ที่เป็นศูนย์ ส่วนครูที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อน เช่น การสะกดคำภาษาไทย คำว่า วารดิถีขึ้นปีใหม่ ครูเข้าใจคลาดเคลื่อนไปว่าต้องเขียนมา วาระดิถีขึ้นปีใหม่ เช่นนี้ก็จะทำให้นักเรียนเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนตามไปด้วย ด้วยเหตุนี้เองผู้ที่เป็นครูจึงต้องรู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งที่สอนอย่างแม่นยำชัดเจน เป็นเบื้องต้น
2.องค์ประกอบที่สอง บุคลิกภาพของครู 
                บุคลิกภาพหมายถึงลักษณะโดยรวมของบุคคลทั้งลักษณะภายนอกและลักษณะภายใน ซึ่งลักษณะดังกล่าวนี้ บางอย่างก็แสดงออกให้ผู้อื่นรับรู้ได้ บางอย่างก็ไม่แสดงออกให้ผู้อื่นรับรู้ บุคลิกภาพมีส่วนอย่างสำคัญต่อการปรับตัวในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ องค์ประกอบของบุคลิกภาพของครูสามารถแบ่งออกได้เป็น 5 องค์ประกอบ ดังนี้
                                1) ด้านกายภาพ หมายถึง รูปร่างหน้าตา กิริยาอาการ และการแต่งกายเป็นสำคัญ ครูที่มีบุคลิกภาพด้านกายภาพเป็นปกติและน่าศรัทธา น่านับถือ จะมีโอกาสประสบความสำเร็จ ในการอยู่ร่วมกับลูกศิษย์มากกว่าครูที่มีบุคลิกภาพด้านกายภาพที่ผิดปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผิดปกติในทางที่ไม่ดี หากจะกล่าวเฉพาะในด้านการแต่งกายแล้ว อาจจะสรุปได้ว่าการแต่งกายที่เหมาะสมที่สุดของครู คือการแต่งกาย (ซึ่งรวมถึงการแต่งหน้าและทรงผมด้วย) ที่สะอาด เรียบร้อย ดูดี น่านับถือ ซึ่งภาษาอังกฤษใช้คำว่า Neat and Clean นั่งเอง
                                2) ด้านวาจา หมายถึง การแสดงออกโดยทางวาจา บุคลิกภาพ ทางวาจาที่ดีของครู หมายถึง การพูดด้วยถ้อยคำที่ถูกต้อง ชัดเจน เหมาะสมกับวุฒิภาวะของลูกศิษย์ ซึ่งหมายถึง ไม่ยากหรือง่ายจนเกินไป การพูดด้วยน้ำเสียงที่แฝงด้วยความเมตตา ปรารถนาดี นุ่มนวล การพูดด้วยลีลาที่เหมาะสม ไม่ช้าไม่เร็วจนเกินไป และรวมไปถึงการพูดน้อย หรือเงียบขรึมจนเกินไป หรือการพูดมากจนน่ารำคาญด้วย
                                3) ด้านสติปัญญา หมายถึง การมีไหวพริบที่ดี สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้เหมาะสม มีการตัดสินใจที่ดี และการมีอารมณ์ขันที่เหมาะสม ซึ่งหมายถึงการสร้างอารมณ์ขันให้แก่ลูกศิษย์ และการรับอารมณ์ขันของลูกศิษย์ได้ดี
                                4) ด้านอารมณ์ หมายถึง การควบคุมอารมณ์ได้ดีไม่แสดงออกซึ่งความรู้สึก ต่าง ๆ ได้ง่ายจนเกินไป ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์มีใจ อารมณ์โกรธ อารมณ์เศร้า หรืออารมณ์หงุดหงิดรำคาญก็ตาม ครูที่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่เหมาะสมคือครูที่มีอารมณ์ดี มั่งคง เสมอต้นเสมอปลาย ซึ่งจะแสดงออกให้เห็นทางสีหน้า แววตา ท่าทาง และวาจาให้ลูกศิษย์รับรู้ได้ แต่จะอย่างไรก็ตามครูก็อาจจะโกรธลูกศิษย์บ้างก็ได้หากมีเหตุผลอันสมควรให้โกรธ ไม่ใช่โกรธเพราะครูอารมณ์ไม่ดี และก็มีครูจำนวนไม่น้อยที่ดูเหมือนจะโกรธหรือขัดใจกับลูกศิษย์อยู่เป็นเนืองนิจ แต่ลูกศิษย์ก็สามารถปรับตัวได้เพราะเกิดการเรียนรู้ว่านั่นคือลักษณะของครู ซึ่งก็คงเป็นไปตามคำกล่าวที่ว่า หากอารมณ์ดีเสมอต้นเสมอปลายไม่ได้ ก็ขอให้อารมณ์ร้ายคงเส้นคงวา ดีกว่าคุ้มดีคุ้มร้าย นั่นเอง เพราะครูที่มีอารมณ์คุ้มดีคุ้มร้ายจะทำให้ลูกศิษย์ไม่สามารถปรับตัวได้ง่าย ๆ
                                5) ด้านความสนใจ หมายถึงการมีความกระตือรือร้นที่จะรับรู้เรื่องหรือความรู้ต่าง ๆ ของสิ่งแวดล้อมรอบตัวได้อย่างหลากหลาย ความสนใจที่กว้างขวางย่อมเกิดจากประสบ-การณ์ที่หลากหลายของบุคคลนั้น ๆ ครูที่มีความสนใจกว้างขวางจะเป็นครูที่สามารถเลือกใช้คำพูดหรือการกระทำให้ถูกใจคนได้หลายลักษณะ ซึ่งเป็นไปตามหลักของการสื่อสารความคิดที่ว่า บุคคลที่มีความสนใจตรงกันจะสื่อสารความคิดกันได้ดี แต่เนื่องจากลูกศิษย์ของครูมีจำนวนหลายคนและหลากหลายความสนใจ ครูจึงต้องมีความสนใจหลากหลายตามไปด้วย มิเช่นนั้นแล้วก็จะถูกใจลูกศิษย์ส่วนน้อย แต่ไม่ถูกใจลูกศิษย์ส่วนมาก
โดยปกตินักเรียนจะชอบเรียนกับครูที่มีบุคลิกภาพดี เพราะชอบที่จะอยู่ใกล้ ๆ และเมื่อมีความชอบในตัวครูแล้ว ก็อาจนำไปสู่การมีความอดทน และความพยายามที่จะเรียนรู้วิชาที่ครูสอนด้วย แต่ในทางตรงกันข้ามหากนักเรียนไม่ชอบบุคลิกภาพของครูเสียแล้ว ก็ย่อมไม่อยากอยู่ใกล้ ๆ ไม่อยากได้ยินเสียง และไม่อดทนไม่พยายามที่จะเรียนรู้ในสิ่งที่ครูสอนไปด้วย แม้จะเป็นนิสิตนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาก็เป็นเช่นนี้ เพราะเขายังไม่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์มากพอที่จะอดทน เพื่อการเรียนรู้กับครูที่น่ากลัวหรือน่ารำคาญได้
3.องค์ประกอบที่สาม ความสามารถในการสอน
                 หมายถึงการที่ครูสามารถทำให้ นักเรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่ครูต้องการจะสอน ทั้งนี้ความหมายของการสอนมิได้หมายความถึงเฉพาะการถ่ายทอดความรู้จากตัวครูไปสู่นักเรียนเท่านั้น แต่หมายถึงความสามารถในการทำให้ นักเรียน "เรียนรู้" และเกิดอาการ "ใฝ่รู้" ด้วยความสามารถในการสอนของครูเกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
                                1) ทัศนคติที่ดีต่อวิชาชีพ หมายถึงการมีใจเอนเอียงในทางบวกต่ออาชีพครู ว่าเป็นอาชีพที่สำคัญต่อสังคม เป็นอาชีพในระดับวิชาชีพ เป็นอาชีพที่ต้องอาศัยความรู้ ความสามารถ และวุฒิภาวะทุก ๆ ด้านเป็นอย่างมาก บุคคลที่ประกอบอาชีพครูโดยมีทัศนคติทีดีต่อวิชาชีพครูย่อมมีโอกาสที่จะสอนได้ดีกว่าบุคคลที่ดูหมิ่นดูแคลน หรือเบื่อหน่ายวิชาชีพครูอย่างแน่นอน
                                2) ทัศนคติที่ดีต่อนักเรียน มีความเมตตา ปรารถนาดีต่อนักเรียน ปรารถนาจะให้เขาเกิดการเรียนรู้ในสิ่งที่ครูทำการสอน มีความคิดความเชื่อว่านักเรียนก็มีความปรารถนาที่จะเรียนรู้ในสิ่งที่ครูทำการสอนเช่นเดียวกัน
                                3) ความเข้าใจในหลักสูตร เข้าใจในวัตถุประสงค์และขอบข่ายเนื้อหาของหลักสูตรอย่างชัดเจน เพราะไม่เช่นนั้นแล้วก็ย่อมไม่สามารถหานักเรียนไปสู่เป้าหมายปลายทางในการสอน หรืออาจสอนนอกเรื่อง หรือพานักเรียนออกนอกลู่นอกทางได้
                                4) ความรู้ความเข้าใจจิตวิทยาพัฒนาการ รู้ลักษณะและธรรมชาติของผู้เรียนหรือ ลูกศิษย์ของตนเอง ทั้งในด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา และอารมณ์สังคม
                           5) ความรู้ความเข้าใจในจิตวิทยาการเรียนรู้และจิตวิทยาการสอน เช่น รู้ว่าการเรียนรู้โดยการมีส่วนร่วมคิดร่วมทำ ย่อมเกิดผลมากกว่าการเรียนรู้โดยการฟังอย่างเดียว การเรียนรู้ต้องเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่นนี้เป็นต้น
                                6) ความสามารถในการสื่อสารความคิดกับนักเรียน ซึ่งหมายความรวมทั้ง การพูด การฟัง การเขียน การอ่าน และการสื่อสารความคิดด้วยสีหน้าท่าทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสามารถในการรับฟังความคิดความสนใจและความต้องการของนักเรียน การอธิบาย การถาม คำถาม และการตอบคำถามของนักเรียน ถือเป็นทักษะเบื้องต้นที่สำคัญยิ่งของการสอน
                                7) ความสามารถในการใช้สื่อการสอน หมายถึงความสามารถที่จะคิด และเลือกใช้ สื่อประกอบการสอนเพื่อให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหมายความว่า นักเรียนเกิดการเรียนรู้ได้มากในเวลาอันสั้น โดยที่ครูและนักเรียนต่างก็เหนื่อยไม่มาก ซึ่งจะเป็นการใช้สื่อที่เหมาะสมมากกว่าที่จะหมายความว่าเป็นสื่อการสอนที่ทันสมัยและราคาแพงเป็นสำคัญ
                                8) ความสามารถในการวัดและประเมินผล การวัดและประเมินผลเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้นักเรียน และครูทราบว่าการเรียนการสอนนั้นบรรลุวัตถุประสงค์หรือไม่ อย่างไร มากน้อยเพียงใด การวัดผลสัมฤทธิ์ในการเรียนนั้นครูผู้สอนถือเป็นบุคคลที่มีบทบาทมากที่สุด เพราะบุคคลที่สามหรือบุคคลภายนอกย่อมไม่เข้าใจถึงปัจจัยและกลไกของการเรียนการสอนนั้น เมื่อครูผู้สอนมีความสามารถในการวัดและประเมินผล ย่อมสามารถบอกได้ว่าผลสัมฤทธิ์ในการเรียนการสอนนั้นไปอย่างไร เรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นในกระบวนการเรียนการสอน ก็คือ นักเรียนถูกประเมินว่าไม่บรรลุวัตถุประสงค์ของการเรียนทั้ง ๆ ที่เขาเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุ-ประสงค์นั้น ๆ หรือในทางกลับกันนักเรียนได้รับการประเมินว่าผ่านหรือบรรลุวัตถุประสงค์ทั้ง ๆ ที่เขาเกิดการเรียนรู้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ผู้ประกอบวิชาชีพครู ซึ่งหมายถึงผู้มีหน้าที่ทำให้ผู้อื่นเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตร ไม่ว่าเราจะเรียกบุคคลนั้น ๆ ว่า "ครู" หรือ "อาจารย์" ย่อมต้องประกอบไปด้วยองค์ประกอบของความเป็นครูทั้งสามองค์ประกอบนี้อย่างหลีกหนีไม่พ้น แต่หากจะถามว่าองค์ประกอบใดมีความสำคัญมากที่สุด หรือ น้อยที่สุด ก็ย่อมเป็นเรื่องยากที่จะตอบได้อย่างชัดเจนลงไป แต่ดูเหมือนว่าเราจะยอมรับกันทั่วไปว่าองค์ประกอบที่หนึ่ง คือ ความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาวิชาที่ครูจะต้องสอนเป็นเรื่องที่ครูต้องใส่ใจมากที่สุด เพราะเป้าหมายสำคัญของการเรียนรู้คือการเรียนรู้ในสิ่งที่ถูกต้อง และนำไปใช้ได้ แต่จะอย่างไรก็ตามเราก็อดคิดไม่ได้ว่า ในเมื่อเรามีครูที่มีความรู้ในเนื้อหาวิชาเป็นอย่างดี แต่ไม่สามารถทำให้นักเรียนอยากเข้าใกล้ อยากทำงานด้วย และไม่สามารถทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ได้ แล้วครูผู้มีความรู้นั้นจะมีประโยชน์อะไรในแง่ของการเรียนการสอน หรือในอีกแง่มุมหนึ่งก็อาจคิดได้ว่า ครูผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในวิชาของตนเองมากจนเกือบเรียกได้ว่าเป็นอัจฉริยะในเรื่องนั้น แต่ทำการประเมินผลการเรียนของลูกศิษย์ของ ตนเองแล้วมีผู้ไม่ผ่าน หรือสอบตกเป็นจำนวนมากจนน่าสะพึงกลัว ก็เป็นเรื่องเศร้าอีกเช่นเดียวกัน ไม่ว่าการสอบตกนั้นจะเกิดขึ้นด้วยเหตุปัจจัยใดก็ตาม ถ้าหากครูผู้สอนมีองค์ประกอบของความเป็นครูครบถ้วนสมบูรณ์ดีแล้ว นักเรียนย่อมเกิดการเรียนรู้สมเจตนารมณ์ของทุกฝ่ายอย่างมีความสุข จนอาจจะกล่าวได้ว่า เกิดการเรียนรู้อย่างสนุก และมีความสุข น่าประทับใจจนไม่อาจลืมเลือน ซึ่งครูที่อยู่ในเกณฑ์ปกติย่อมมีความปรารถนาที่จะให้ลูกศิษย์ของตนเป็นเช่นนี้ด้วยกันทั้งนั้น คงไม่มีครูท่านใดปรารถนาที่จะให้ลูกศิษย์ของตนเอง เกิดการเรียนแต่ไม่รู้ แถมมีความทุกข์ หมดสนุก และเข็ดจนตาย อย่างแน่นอน






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น